ห้องความดันลบ (Negative Pressure Room) คืออะไร?

ศัพท์เฉพาะที่ได้ยินบ่อยในช่วงโควิด-19

An Other May
2 min readMar 31, 2020

ในสถานการณ์ที่ผู้ป่วยโควิด-19 (COVID-19) ยังเพิ่มขึ้น ในจำนวนนั้นมีหลายรายที่อาการหนักและต้องได้รับการรักษาในห้องเฉพาะที่เรียกว่า ‘Negative Pressure Room’ หรือ ‘ห้องความดันลบ’

ตอนได้ยินคำว่า ‘ห้องความดันลบ’ ครั้งแรก แว้บหนึ่งเรานึกสงสัยว่าถ้าความดันเป็นลบคนไข้ต้องหายใจยังไง ในห้องจะมีอากาศไหม หรือทุกคนที่เข้าไปในห้องต้องใส่เครื่องช่วยหายใจ? เพราะสงสัยก็เลยต้องหาคำตอบให้ตัวเอง และไหนๆ ก็อ่านมาแล้ว ขออนุญาตเอามาแบ่งปัน เผื่อใครคิดสงสัยเหมือนกัน

Image by Gerd Altmann from Pixabay

ก่อนอื่นมาตอบคำถามแรกที่สงสัยก่อน สรุปคือห้องความดันลบมีอากาศให้หายใจเหมือนห้องปกติ เพราะห้องความดันลบไม่ใช่ห้องสุญญากาศ (Vacuum) ที่ไม่มีอากาศเลย

ห้องความดันลบคือห้องที่ความดันภายในห้องน้อยกว่าความดันภายนอกห้อง โดยปกติอากาศจะไหลจากบริเวณที่มีความดันสูงกว่าไปยังบริเวณที่มีความดันต่ำกว่า ดังนั้นเมื่อความดันภายในห้องต่ำกว่าความดันภายนอกห้อง อากาศภายในห้องจะไม่ไหลออกไปข้างนอก ซึ่งก็หมายความว่าเชื้อโรคหรือไวรัสที่ปนเปื้อนอยู่ในอากาศภายในห้องก็จะไม่ไหลออกไปนอกห้องด้วย

ห้องความดันลบมีใช้อยู่แล้วในหลายที่ ไม่ใช่แค่เฉพาะห้องรักษาคนไข้หรือเฉพาะในโรงพยาบาลเท่านั้น และนอกจากห้องความดันลบแล้วก็ยังมี ‘ห้องความดันบวก’ (Positive Pressure Room) ซึ่งจะมีการเติมอากาศสะอาดเข้าไปในห้องตลอดเวลา เมื่อความดันภายในห้องสูงกว่าความดันภายนอกห้อง อากาศก็จะไหลจากในห้องออกไปนอกห้อง ส่วนอากาศภายนอกก็จะไม่สามารถไหลเข้ามาในห้องได้ ทำให้อากาศภายในห้องสะอาดอยู่เสมอ

ห้องความดันทั้ง 2 แบบนี้เป็นส่วนหนึ่งของระบบควบคุมการติดเชื้อของโรงพยาบาล (Hospital Infection Control) เพื่อป้องกันการปนเปื้อนเชื้อโรคจากห้องสู่ห้อง โดยห้องความดันบวกจะป้องกันคนภายในห้องจากเชื้อโรคนอกห้อง ส่วนห้องความดันลบจะป้องกันคนภายนอกห้องจากเชื้อโรคในห้อง

ห้องความดันบวก มีจุดประสงค์เพื่อผลักเชื้อโรคหรือสิ่งปนเปื้อนออกไปจากห้อง เพื่อให้ห้องมีสภาพปลอดเชื้อมากที่สุด ห้องความดันบวกถือเป็นห้องที่สะอาดที่สุดในโรงพยาบาล ตัวอย่างพื้นที่ในโรงพยาบาลที่เป็นห้องความดันบวก เช่น ห้องทำเด็กหลอดแก้ว ห้องผ่าตัด ห้องดูแลผู้ป่วยที่เสี่ยงต่อการติดเชื้อหรือผู้ป่วยที่ระบบภูมิคุ้มกันอ่อนแอ

ห้องความดันลบ มีจุดประสงค์เพื่อกักเชื้อโรคหรือสิ่งปนเปื้อนให้อยู่ภายในห้องไม่เล็ดรอดออกไป ตัวอย่างพื้นที่ในโรงพยาบาลที่เป็นห้องความดันลบ เช่น บริเวณนั่งรอหน้าห้องฉุกเฉิน ห้องนั่งรอฉายรังสี ห้องคัดกรองผู้ป่วย ห้องน้ำ ห้องชันสูตรศพ ห้องแลบ ห้องซักผ้าที่ใช้แล้ว หรือห้องแยกรักษาผู้ป่วยโรคที่ติดต่อผ่านการหายใจ เช่น วัณโรคปอด

Image by Gerd Altmann from Pixabay

ห้องความดันลบที่ใช้แยกรักษาผู้ที่ป่วยด้วยโรคที่ติดต่อผ่านการหายใจ ปกติจะใช้ในการรักษาผู้ป่วยโรควัณโรคปอด โรคหัด และโรคงูสวัด เนื่องจากเชื้อโรคเหล่านี้สามารถลอยฟุ้งในอากาศในลักษณะละอองขนาดเล็กจิ๋ว (Airborne) ที่จะทำให้เกิดการติดต่อผ่านการหายใจ โดยประเทศไทยเคยใช้ห้องความดันลบในการรับมือการแพร่ระบาดของโรคซาร์ (SARS) มาก่อนหน้านี้แล้ว

ในกรณีของ COVID-19 เป็นที่ยืนยันแล้วว่าเชื้อไวรัสนี้ติดต่อผ่านหยดของเหลว (Droplet) อย่างน้ำลาย น้ำมูก หรือเสมหะที่กระจายจากการไอหรือจาม ละอองขนาดใหญ่เหล่านี้เมื่อกระจายออกมาแล้วจะตกลงสูงพื้น ไม่ลอยค้างอยู่ในอากาศ ดังนั้นเราจึงสามารถป้องกันการติดต่อรูปแบบนี้ได้โดยรักษาระยะห่าง 2 เมตรระหว่างกันหรือใส่หน้ากากอนามัย

แต่ในการรักษาผู้ป่วย COVID-19 ที่อาการหนัก อาจต้องมีการทำหัตถการบางอย่าง เช่น การพ่นยาหรือใส่ท่อช่วยหายใจ ที่อาจทำให้ของเหลวในร่างกายผู้ป่วยกระจายเป็นละอองขนาดเล็กที่ฟุ้งอยู่ในอากาศเป็นเวลานาน (Airborne) และทำให้มีโอกาสที่คนจะสูดดมเข้าไปและติดเชื้อได้ ด้วยเหตุนี้คนไข้ที่มีอาการหนักจึงต้องอยู่ในห้องแยกที่มีความดันลบ และหมอกับพยาบาลที่เข้าไปดูแลก็ต้องมีอุปกรณ์ป้องกันอย่างรัดกุม (Personal Protective Equipment หรือ PPE) ซึ่งอย่างน้อยต้องประกอบด้วยชุดกาวน์เต็มตัว แว่นตานิรภัย หน้ากาก N95 ถุงมือ และรองเท้าบูท เพื่อความปลอดภัยของบุคลากรผู้ดูแลคนป่วยด้วยเช่นกัน

คุณสมบัติสำคัญของห้องความดันคือ ทั้งห้องจะต้องผนึกแน่น ประตูต้องปิดเองอัตโนมัติ พื้นห้อง เพดาน ผนังและหน้าต่างต้องไม่มีช่องเปิด รูรั่ว รอยแตก หรือช่องว่างอื่นนอกจากช่องเปิดที่ออกแบบมาให้อากาศไหลเข้าออกโดยเฉพาะ ช่องเปิดสำหรับการไหลเข้าออกของอากาศนี้จะมีการควบคุมอย่างเป็นระบบ มีพัดลมและท่อลมเพื่อควบคุมการไหลของอากาศให้ไปในทิศทางที่ต้องการ มีแผ่นกรองอากาศเพื่อควบคุมการเคลื่อนที่ของละอองสิ่งปนเปื้อน นอกจากนี้ยังต้องมีพื้นที่กึ่งกลางระหว่างห้องความดันกับสภาพแวดล้อมภายนอกเพื่อใช้เป็นพื้นที่สังเกตอาการ ส่งของ หรือเก็บอุปกรณ์ป้องกันด้วย

ที่สำคัญ ต้องมีระบบเฝ้าดูและควบคุมระดับความดันอยู่ตลอดเวลา เพราะการเปลี่ยนแปลงของความดันอย่างไม่ถูกต้องหรือการเกิดรูรั่วที่จุดใดจุดหนึ่งเพียงนิดเดียวก็ทำให้มีโอกาสที่เชื้อโรคจะหลุดออกไปข้างนอกได้

สำหรับการกำจัดอากาศเสียจากห้องความดัน เนื่องจากทั้งห้องความดันบวกและห้องความดันลบทำให้เกิดอากาศที่ปนเปื้อนทั้งคู่ ห้องความดันจึงต้องมีระบบระบายอากาศที่ดีและปลอดภัย อากาศจากห้องความดันอาจมีทั้งเชื้อโรค ไอสารเคมี หรือละอองกัมมันตรังสี ซึ่งหากในอากาศมีสิ่งปนเปื้อนที่เป็นอันตรายสูงก็จะต้องมีการฆ่าเชื้อก่อนปล่อยออกสู่ธรรมชาติ ท่อระบายอากาศจากห้องความดันจะต้องอยู่ห่างจากบริเวณที่มีคนอยู่ โดยส่วนมากจะปล่อยออกทางปล่องหลังคาสูง

เพราะการสร้างห้องความดันลบมีข้อบังคับหลายข้อที่ต้องปฏิบัติตามและต้องใช้ทรัพยากรและพื้นที่ในการสร้าง หลายโรงพยาบาลจึงไม่มีห้องความดันลบสำหรับรับรองคนไข้ COVID-19 ที่ยังเพิ่มขึ้นทุกวัน

เราไม่รู้ว่าบุคลากรทางการแพทย์จะต้องรับมือกับสถานการณ์นี้ไปอีกนานแค่ไหน ไม่ใช่แค่ความขาดแคลนด้านสถานที่และอุปกรณ์ แต่กำลังกายและกำลังใจของหมอและพยาบาลก็เป็นอีกสิ่งสำคัญที่เราต้องคอยเติมไม่ให้พร่อง และการที่ทุกคนดูแลตัวเองให้ดีที่สุดเท่าที่จะทำได้ก็เป็นการช่วยหมอและพยาบาลได้ทางหนึ่งแล้ว

สถานการณ์แบบนี้ ลำบากกันถ้วนหน้า ขอให้ทุกคนรอดไปด้วยกัน

Take Care Everyone!

#MayIWrite

Related Topic: วัคซีนโควิด-19 ทำงานอย่างไร?

References

https://en.wikipedia.org/wiki/Negative_room_pressure

https://www.chthealthcare.com/blog/negative-pressure-rooms

https://airinnovations.com/negative-positive-pressure-rooms-hospital-infection-control

--

--

An Other May
An Other May

Written by An Other May

Another May in a wide sea of Mays

No responses yet